หากคุณเป็นคนสร้างสรรค์คอนเทนท์ในช่องทางต่าง ๆ ของแบรนด์ และเมื่อเวลาผ่านไปก็รู้สึกว่ารูปแบบการเขียนแคปชั่น หรือบทความเริ่มซ้ำซาก จนทำให้แบรนด์เริ่มไม่มีสีสัน ลองดู 8 วิธีนี้ ที่อาจเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเขียนที่ช่วยเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์ และผู้อ่านได้รับข้อมูลที่เราต้องการสื่อสารอย่างสมบูรณ์ทั้งยังเพิ่มโอกาสการขายในอนาคตได้ด้วย

เทคนิคเด็ดการเขียนแคปชั่น Facebook, Instagram

1. เอาใจเขามาใส่ใจเรา ลองคิดในมุมผู้อ่าน

อย่างที่ทุกคนทราบกันอยู่แล้วว่าสิ่งที่ต้องคิดถึงเป็นอย่างแรกในการทำคอนเท้นท์ คือ กลุ่มเป้าหมายเป็นใคร และเมื่อเรารู้แล้วว่าผู้อ่านของเราเป็นใคร ชอบคอนเทนท์แบบไหน ต้องการรู้อะไร เราจึงจะสามารถถ่ายทอดข้อมูลเหล่านั้นได้ตรงใจกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นจุดประสงค์สูงสุดของการทำคอนเทนท์ คือการให้ประโยชน์และคุณค่าแก่ผู้อ่าน (อ่านเพิ่มเติม > เคล็ดลับขายของออนไลน์ให้สุดปัง! ทั้ง 6 แพลตฟอร์ม Social Media)

2. เลือกใช้คีย์เวิร์ดและติดแฮชแท็ก

ไม่ว่าจะเป็นคอนเทนท์ในช่องทางออนไลน์ไหนก็ตาม แม้กระทั่ง Facebook ก็สามารถเป็น search engine ให้กับใครสักคนได้ ยิ่งในยุคนี้ที่ social media มีอิทธิพลอย่างมากต่อทุกคน การเลือกใส่คีย์เวิร์ดที่สื่อถึงหัวข้อที่เขียนลงในแคปชั่นและติดแฮชแท็กที่เกี่ยวข้องจะช่วยเพิ่มโอกาสให้โพสของเราปรากฎในการค้นหามากขึ้น

3. จับให้อยู่หมัดตั้งแต่บรรทัดแรก

การดึงความสนใจของผู้อ่านทำได้หลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นการพูดถึง pain point ของผู้อ่านเพื่อให้เกิดความรู้สึกร่วม หรือการพูดให้มองเห็นถึงประโยชน์หลังจากการใช้สินค้าหรือบริการ เพื่อให้เกิดความรู้สึกบวก หรือแม้แต่การตั้งคำถามเพื่อให้เกิดการสงสัย คิดตาม และอ่านต่อในย่อหน้าถัดไป

การเขียนแคปชั่นในบรรทัดแรก อาจตั้งต้นด้วยการถามตัวเองว่า ผู้อ่านจะได้อะไรจากการอ่านสิ่งนี้ และนำคำตอบนั้นมาแตกไอเดียช่วยในการตั้ง Headline เช่น หากต้องการนำเสนอ solution ของ Boxme เพื่อให้ลูกค้าทราบถึงความคุ้มค่าด้านเวลาและประหยัดต้นทุน ก็อาจเขียนแคปชั่นบรรทัดแรกได้ว่า ‘จะดีกว่าไหม ถ้าสามารถเปลี่ยนเวลานั่งแพ็คของ ไปมุ่งกับการขาย เพิ่มกำไรให้ยอดพุ่งปังๆๆ!’ ทำให้ผู้อ่านรู้สึกมีส่วนร่วมและคิดตาม และมองหา solution ที่เราจะนำเสนอในย่อหน้าถัด ๆ ไป

4. เนื้อหาครอบคลุม แต่ไม่หลงประเด็น

การเขียนแคปชั่น ส่วนใหญ่จะเป็นการเล่าเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับผู้อ่าน คอนเทนท์ที่ดีควรตอบคำถามได้ทุกประเด็นที่ผู้อ่านต้องการรู้ โดยอาจเขียนในเชิงสรุปเรื่องราว และมีการลิ้งค์ไปยังหน้าที่สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ สำหรับความยาวของคอนเทนท์ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ กลุ่มเป้าหมาย และมาตรฐานของแบรนด์ว่าต้องการให้เป็นคอนเทนท์ในรูปแบบไหน

แต่อย่างไรก็ตาม แคปชั่นจะต้องชัดเจนในประเด็นที่ต้องการจะสื่อ ไม่เขียนวกวนจนทำให้เกิดความสับสน หรือเขียนครอบคลุมกว้างเกินไปซึ่งอาจทำให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลมากเกินความจำเป็น และไม่สามารถจับใจความสำคัญได้

สามารถใช้วิธีในการทำ mindmap เพื่อคัดเลือกและเรียบเรียงสิ่งที่ต้องการจะพูด ช่วยลดทอนให้เหลือประเด็นสำคัญและป้องกันการหลงประเด็น

5. ใช้ภาษาเดียวกับกลุ่มผู้อ่าน

ปัจจัยพื้นฐานที่จะส่งข้อมูลไปยังผู้อ่านได้อย่างสมบูรณ์ เริ่มด้วยการสื่อสารในระดับภาษาเดียวกันกับผู้อ่าน ดังนั้น แบรนด์ควรจะรู้จักผู้อ่านของตัวเองเป็นอย่างดี ว่าบุคลิกเขาเป็นอย่างไร ชอบเสพสื่อแบบไหน เพื่อจะสามารถปรับปรุงการเขียนให้สามารถเข้าถึงผู้อ่านได้มากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น แบรนด์ที่มีความเฉพาะทางด้านการแพทย์ แต่ต้องการสื่อสารให้ผู้อ่านซึ่งเป็นคนทั่วไปสามารถเข้าถึงแบรนด์ได้ จึงต้องปรับการเขียนคำศัพท์เทคนิคให้เป็นคำที่ผู้คนทั่วไปสามารถเข้าใจได้ง่าย

6. จัดย่อหน้าให้กระชับและแยกประเด็นชัดเจน

การจัดย่อหน้าและแยกประเด็นให้ชัดเจนทำให้สะดวกในการอ่านมากขึ้น เนื่องจากมีการแบ่งประเด็นออกอย่างเป็นระเบียบ อย่างไรก็ตาม แต่ละย่อหน้าควรเขียนให้กระชับและตรงประเด็น ซึ่งให้ความรู้สึกน่าอ่านกว่าข้อความที่ยาวเป็นพืด ไม่มีจุดพักสายตา ความยาวแต่ละย่อหน้าควรอยู่ที่ประมาณ 2-4 บรรทัด

7. แสดงความเป็นเอกลักษณ์ผ่านการเขียน

อีกจุดประสงค์หนึ่งในการเขียนคอนเทนท์คือการสื่อสารแบรนด์ออกไปให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงแบรนด์ และมองเห็นถึงจุดยืนของแบรนด์ ดังนั้นในฐานะประเภทหนึ่งของการสื่อสารแบรนด์ การเขียนในช่องทางต่าง ๆ ควรมีเอกลักษณ์หรือโทนที่ใช้สื่อสารเป็นประจำ จะทำให้ผู้ที่อ่านงานเขียนของเราบ่อย ๆ เกิดการจดจำภาพของแบรนด์ได้

อีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยแสดงวิสัยทัศน์ของแบรนด์ออกมาได้ คือการเขียนความคิดเห็นหรือมุมมองในฝั่งของแบรนด์ลงไปในคอนเทนท์ด้วย เพื่อตอกย้ำภาพลักษณ์และทัศนคติของแบรนด์ (อ่านเพิ่มเติม > 7 กลยุทธ์เด็ดมัดใจขาประจำ! ให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำทำยังไง?)

8. เพิ่มโอกาสด้วย Call-To-Action

การใส่ CTA ไว้ท้ายบทความจะช่วยเพิ่มโอกาสที่ผู้อ่านจะเข้าถึงเราในช่องทางอื่น ๆ เพิ่มขึ้นได้ วิธีนี้ทำให้แบรนด์ของเราสามารถติดตามกลุ่มเป้าหมายได้อย่างต่อเนื่องในทุกแพลตฟอร์ม หรือ CTA อาจเป็นลิ้งค์ที่เพิ่มโอกาสการขายก็ได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่าเป้าหมายของการทำคอนเทนท์สื่อสาร ก็เพื่อให้ประโยชน์และคุณค่าแก่ผู้อ่านได้มากที่สุด และเมื่อนั้นเองผู้อ่านหรือกลุ่มเป้าหมายของเราก็จะมองเห็นแบรนด์ของเราเป็นที่พึ่งและแหล่งอ้างอิงของเขาในด้านนั้น ๆ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก: rainmaker

ติดต่อเจ้าหน้าที่โดยตรง เพื่อขอรับรายละเอียดเพิ่มเติมโทร 02-026-3165 หรือ > ขอรับใบเสนอราคา < กดที่นี่

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *